ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จับตัวอดีตปธน. โรดริโก ดูเตรเต ตามหมายจับศาลอาญาโลก


จนท.ตำรวจระดมกำลังรอการมาถึงของอดีตปธน.ฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตรเต ที่ท่าอากาศยานนานาชาตินินอย อาคิโน ในกรุงมะนิลา เมื่อ 11 มี.ค. 2568
จนท.ตำรวจระดมกำลังรอการมาถึงของอดีตปธน.ฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตรเต ที่ท่าอากาศยานนานาชาตินินอย อาคิโน ในกรุงมะนิลา เมื่อ 11 มี.ค. 2568

เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตรเต ที่ท่าอากาศยานสากลมะนิลา ในวันอังคาร ตามหมายจับของศาลอาญาโลก (ICC) ในคดีที่เกี่ยวข้องกับข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ตามการเปิดเผยของรัฐบาลฟิลิปปินส์

ดูเตรเตถูกจับกุมหลังเดินทางกลับจากฮ่องกง ตามคำสั่งของ ICC ที่เริ่มการสืบสวนกรณีการสังหารหมู่ในช่วงที่อดีตผู้นำฟิลิปปินส์รายนี้อยู่ในอำนาจและดำเนินแผนการปรามปรามขบวนการค้ายาเสพติด อ้างอิงข้อมูลจากแถลงการณ์ของทำเนียบประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์

รัฐบาลฟิลิปปินส์ระบุว่า สำนักงานตำรวจสากลในกรุงมะนิลาได้รับสำเนาทางการของหมายจับของศาลอาญาโลกก่อนจะดำเนินการจับกุม โดยมีการแสดงเอกสารหมายจับให้กับดูเตรเตด้วย

แฟ้มภาพ: อดีตปธน.โรดริโก ดูเตรเต แห่งฟิลิปปินส์ เดินทางมาถึงสนามกีฬาในฮ่องกง เพื่อร่วมงานที่จัดโดยแรงงานฟิลิปปินส์ในฮ่องกง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มี.ค. 2568
แฟ้มภาพ: อดีตปธน.โรดริโก ดูเตรเต แห่งฟิลิปปินส์ เดินทางมาถึงสนามกีฬาในฮ่องกง เพื่อร่วมงานที่จัดโดยแรงงานฟิลิปปินส์ในฮ่องกง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มี.ค. 2568

ยังไม่มีรายละเอียดว่า ตำรวจนำตัวดูเตรเตไปคุมขังที่ใด โดยรัฐบาลมะนิลาเปิดเผยเพียงว่า แพทย์ได้ทำการตรวจสุขภาพอดีตประธานาธิบดีวัย 79 ปีผู้นี้แล้วและยืนยันว่ามีสุขภาพแข็งแรงดี และว่า “ตอนนี้ (ดูเตรเต)อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของทางการ” เท่านั้น

ศาลอาญาโลกเริ่มการสืบสวนการสังหารผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดภายใต้คำสั่งของดูเตรเตที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ปี 2011 เมื่ออดีตปธน.ผู้นี้ยังดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองดาเวาอยู่ จนถึงวันที่ 16 มีนาคม ปี 2019 เพื่อตรวจสอบว่า ทั้งหมดถือเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือไม่

ทั้งนี้ ดูเตรเตถอนฟิลิปปินส์ออกจากธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ในปี 2019 ซึ่งทำให้นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนออกมาวิจารณ์ทันทีว่า เป็นความพยายามหลบหนีการรับผิดและรับชอบของอดีตผู้นำรายนี้

รัฐบาลของดูเตรเตยังได้สั่งระงับการสืบสวนของศาลอาญาโลกในช่วงปลายปี 2021 โดยอ้างว่า ทางการฟิลิปปินส์ได้ตรวจสอบคำกล่าวหาเดียวกันนี้แล้ว พร้อมแย้งว่า ICC ไม่มีอำนาจศาลในประเทศนี้

แต่ศาลอุทธรณ์ที่ ICC มีคำพิพากษาในปี 2013 ให้มีการเดินหน้าสืบสวนต่อไปได้และปฏิเสธคำคัดค้านของรัฐบาลดูเตรเต

ศาลอาญาโลกที่ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ สามารถเข้าดำเนินการสืบสวนไต่สวนในประเทศใดก็ได้ที่ไม่ยินยอมหรือไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยในคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศที่มีความโหดร้ายรุนแรงอย่างที่สุด ซึ่งรวมถึง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ซึ่งรับตำแหน่งต่อจากดูเตรเตในปี 2022 ก่อนจะเข้ามาพัวพันกับข้อพิพาททางการเมืองกับผู้นำคนก่อนรายนี้ ตัดสินใจที่จะไม่นำประเทศกลับเข้าร่วมกับศาลโลก

แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันของฟิลิปปินส์กล่าวว่า จะยอมร่วมมือ ถ้า ICC ขอให้ตำรวจสากลนำตัวดูเตรเตไปคุมขังไว้ ผ่านระบบที่มีชื่อว่า Red Notice ซึ่งเป็นคำขอให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายใดก็ได้ในโลกระบุที่อยู่และทำการจับกุมผู้ต้องสงสัยก่ออาชญากรรมไว้ชั่วคราว


  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG