นักวิเคราะห์คาด ‘ไทย-อินเดีย’ โดนหนัก จากนโยบายภาษีทรัมป์

  • Bloomberg

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ โชว์ลายเซ็นของเขาในคำสั่งฝ่ายบริหารว่าด้วยภาษีศุลกากร ที่ Oval Office ของทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน 13 ก.พ. 2025

นักวิเคราะห์มองว่า การประกาศนโยบายกำแพงภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ กับประเทศคู่ค้า ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้ประเทศในเอเชียที่ได้ประโยชน์ทางการค้ากับรัฐบาลวอชิงตัน หาทางเจรจากับผู้นำสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีรอบใหม่ ขณะที่บางประเทศในเอเชียเตรียมรับแรงกระแทกจากนโยบายนี้แล้ว

ในการหาเสียงเมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะขึ้นภาษีในอัตราที่เท่ากัน โดยระบุว่า “หากพวกเขาเก็บภาษีเรา เราจะเก็บภาษีพวกเขา – ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ภาษีต่อภาษี ในอัตราที่เท่ากัน”

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์ กล่าวว่าจะประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) ในอัตราเทียบเท่ากับที่ประเทศต่าง ๆ บังคับใช้กับสินค้าของสหรัฐฯ อย่างรวดเร็วที่สุดคือในวันอังคารนี้ เพื่อแก้ปัญหาขาดดุลการค้าของอเมริกา โดยไม่ได้ระบุว่าประเทศใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบ

ระหว่างที่เงื่อนไขของนโยบายนี้ยังไม่มีความชัดเจนออกมา นักวิเคราะห์จาก Barclays ระบุเมื่อวันจันทร์ที่แล้วว่า “มีแนวโน้มที่ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะปรับขึ้นกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียเกือบทั้งหมด” เว้นแต่สิงคโปร์และฮ่องกง ที่สหรัฐฯ ได้เปรียบการค้าอยู่

Your browser doesn’t support HTML5

นักวิเคราะห์คาด ‘ไทย-อินเดีย’ โดนหนัก จากนโยบายภาษีทรัมป์

ด้านการประเมินขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ระบุว่า ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียบังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงกว่าในปี 2023 และเมื่อดูเป็นรายประเทศในเอเชีย เมื่อปีที่แล้ว พบว่า จีนเกินดุลการค้าสหรัฐฯ เป็นอันดับ 1 ที่ตัวเลขเกินดุล 295,400 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยเวียดนาม เกินดุลสหรัฐฯ 123,500 ล้านดอลลาร์ ไต้หวันเกินดุล 74,000 ล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่นเกินดุล 68,500 ล้านดอลลาร์ และเกาหลีใต้ เกินดุล 66,000 ล้านดอลลาร์ อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ (U.S. Census Bureau)

สเตฟาน แอนกริค นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Moody’s Analytics ให้ทัศนะกับซีเอ็นบีซีว่า “ประเทศเศรษฐกิจเหล่านี้หลบเลี่ยงมาตรการภาษีได้ในตอนนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหายใจได้โล่งปอด” และว่ารัฐบาลวอชิงตันอาจเปลี่ยนโทนและบังคับใช้มาตรการภาษีในภายหลังได้

SEE ALSO: ทรัมป์บอกผู้นำธุรกิจโลกให้ใช้สหรัฐฯ เป็นฐานการผลิต ไม่งั้นจะโดนภาษีหนัก

นักเศรษฐศาสตร์คาดไทย-อินเดีย อาจกระทบหนัก

นักเศรษฐศาสตร์ได้เตือนว่า เอเชียคือพิกัดสงครามการค้าแห่งใหม่ ที่อินเดียและไทยอยู่ในแนวหน้าของสมรภูมินี้ เนื่องจากมีส่วนต่างการเรียกเก็บภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ สูงกว่าที่อเมริกาเรียกเก็บอยู่มาก

เชทาน อาห์ยา นักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley ชี้ว่า ไทยและอินเดียจะเผชิญอัตราภาษีเพิ่มขึ้นราว 4-6% และว่า “มาตรการภาษีที่เริ่มขึ้นนี้มีความก้าวร้าวกว่าเดิม” เมื่อเทียบกับทรัมป์สมัยแรก

เมวา คัซเซิน จาก Bloomberg Economics และจอร์จ ซาราเวลอส จากธนาคาร Deutsche Bank มองว่า อินเดียเสี่ยงต่อมาตรการตอบโต้เพราะมีส่วนต่างด้านภาษีนำเข้ากับสินค้าอเมริกาถึง 10%

เหวิน จาก MUFG คาดว่า สหรัฐฯ อาจขึ้นภาษีเกิน 15% จากระดับปัจจุบันที่ 3% โดยอินเดียเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 45,700 ล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อน และอินเดียคิดภาษีนำเข้ากับสินค้าเกษตรสหรัฐฯ ในระดับ 39%

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อินเดียได้หารือการสั่งซื้อพลังงานเพิ่มจากสหรัฐฯ ระหว่างการหารือของผู้นำสหรัฐฯ และอินเดีย ส่วนไทยกำลังพิจารณาซื้อสินค้าอเมริกาเพิ่มเติม เพิ่มการนำเข้าเอธานอลและสินค้าเกษตรในปีนี้

SEE ALSO: “ทรัมป์-โมดี” หารือประเด็นการค้า ผู้อพยพเข้าประเทศ ความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์

เวียดนามเตรียมรับแรงกระแทกจากนโยบายภาษีทรัมป์

อีกด้านหนึ่ง แอนกริค นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Moody’s Analytics เสริมว่า เวียดนามเป็น “ประเทศที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะมีความเสี่ยงมากที่สุด” ในการตกเป็นเป้าของมาตรการกีดกันทางการค้าของทรัมป์ เนื่องจากเวียดนามเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ไปมาก และมีการลงทุนของจีนจำนวนมากในประเทศ

ข้อมูลของ WTO ชี้ว่า เวียดนามเกินดุลการค้าสหรัฐฯ มากขึ้นเกือบ 18% ต่อปี และแตะระดับสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่อัตราภาษีกับประเทศที่ได้สถานะ MFN ของเวียดนามอยู่ที่ระดับ 9.4%

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ ซึ่งเคยเรียกเวียดนาม ว่า เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากนโยบายการค้าโดยมิชอบ เมื่อปี 2019 ยังไม่ได้กล่าวถึงเวียดนามหลังได้รับเลือกขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่

ฝั่งรัฐบาลฮานอย ประกาศแผนซื้อเครื่องบิน ก๊าซธรรมชาติเหลว LNG และสินค้าอื่น ๆ จากอเมริกา เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีเตรียมการสำหรับผลกระทบของสงครามการค้าโลกในปีนี้

ไมเคิล เหวิน นักวิเคราะห์อาวุโสด้านค่าเงิน แห่งธนาคาร MUFG ให้ข้อมูลกับซีเอ็นบีซีในวันจันทร์ที่แล้วว่า สหรัฐฯ อาจปรับขึ้นภาษีเวียดนามเป็นเท่าตัว ที่ 8% อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ จะไม่ใช้มาตรการที่เข้มงวดสุดโต่งกับเวียดนาม แต่มีแนวโน้มจะขึ้นภาษี “ในสินค้าบางอุตสาหกรรม”

SEE ALSO: จีนลั่นเตรียมตอบโต้มาตรการภาษีทรัมป์

จีนพร้อมหารือทรัมป์หลังเจอขึ้นภาษี 10%

ณ เวลานี้ จีนเป็นประเทศที่ต้องเผชิญภาษีเพิ่มขึ้น 10% ครอบคลุมสินค้านำเข้าทั้งหมดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งจีนออกมาตรการภาษีตอบโต้สินค้านำเข้าบางประเทศจากสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ หลังจากไม่สามารถจัดการหารือระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กับปธน.ทรัมปได้ในช่วงเวลาดังกล่าว

จีนขึ้นภาษี 15% กับถ่านหิน ก๊าซ LNG และ 10% กับน้ำมันดิบ อุปกรณ์การเกษตร รถยนต์และรถกระบะ ซึ่งประเมินว่าแพคเกจกำแพงภาษีนี้จะครอบคลุมสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 13,900 ล้านดอลลาร์ อ้างอิงจากสถาบันโนมูระ

แต่ในมุมมองของทอมมี่ สี หัวหน้าฝ่ายวิจัยระดับมหภาพของเอเชีย แห่งธนาคาร OCBC ที่ระบุกับซีเอ็นบีซี ชี้ว่า มาตรการรอบนี้น้อยกว่าที่จีนบังคับใช้ในยุคทรัมป์สมัยแรก ที่กระทบกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่งสัญญาณว่า “จีนเลือกจะตอบสนองในแนวทางที่หลากหลายมากขึ้น” ด้วยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การควบคุมการส่งออก และการสั่งตรวจสอบบริษัทอเมริกัน ในระหว่างที่ “เปิดทางสำหรับการเจรจาในอนาคต” กับสหรัฐฯ

SEE ALSO: ทรัมป์ต้อนรับนายกฯ ญี่ปุ่นที่ทำเนียบขาว - ประสานประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ญี่ปุ่นยังคงได้รับผลเชิงบวก

นักวิเคราะห์เห็นว่า ญี่ปุ่น ดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับทรัมป์ และอาจได้รับการป้องกันจากการขึ้นภาษีสูงขึ้น “ในเวลานี้” หลังจากนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชิเงรุ อิชิบะ เดินทางเยือนกรุงวอชิงตันเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยญี่ปุ่นเห็นชอบที่จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนในสหรัฐฯ มากที่สุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 และยังให้คำมั่นในการขยายการลงทุนในอเมริกามูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ จากระดับ 783,300 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นเก็บภาษีกับประเทศที่ได้สถานะ MFN ที่ 3.7% ตามข้อมูลของ WTO ซึ่งหมายความว่าอาจมีการปรับขึ้นภาษีกับสินค้าของญี่ปุ่นเพียงเล็กน้อย ในมุมมองของเคียวเฮ โมริตะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันโนมูระ

ขณะที่เจมส์ เบรดี้ รองประธานบริษัทที่ปรึกษา Teneo กล่าวกับซีเอ็นบีซีว่า “ระหว่างที่ญี่ปุ่นไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากนโยบายกำแพงภาษีสหรัฐฯ ในอนาคตได้” แต่อาจเลี่ยงการปฏิบัติที่มุ่งเป้าเจาะจงเหมือนกรณีของแคนาดา เม็กซิโก และจีนได้

  • ที่มา: ซีเอ็นบีซีและบลูมเบิร์ก