รายงานเหตุการณ์ที่พลเมืองชาวจีนตกเป็นเหยื่อแก๊งค้ามนุษย์และจับไปทำงานที่ศูนย์คอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาในช่วงที่ผ่านมานำมาซึ่งคำถามเกี่ยวกับนโยบายกรุงปักกิ่งที่พึ่งพารัฐบาลทหารเมียนมาในการปราบปรามขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้ว่า ได้ผลดีจริงหรือไม่
นักวิเคราะห์เตือนว่า ยุทธศาสตร์ของจีนเกี่ยวกับเมียนมาส่งผลให้พลเมืองของตนตกอยู่ในสภาพเปราะบาง ทั้งยังเป็นการหนุนเครือข่ายอาชญากรต่าง ๆ ที่มีปฏิบัติการในประเทศนี้ที่ตกอยู่ในภาวะขัดแย้งรุนแรงมานานนับทศวรรษด้วย
ล่า จ่อ ซอว์ นักวิเคราะห์ด้านจีน-เมียนมา กล่าวว่า “ทางการจีนจัดการกับเหตุการณ์เหล่านี้ที่มีพลเมืองจีนตกเป็นเหยื่อถูกลักพาตัวไปยังเมืองเมียวดีอย่างระมัดระวัง” และว่า “แต่เมื่อต้องมีการลงมือจัดการอะไรสักอย่าง จีนมักจะกดดันไทยมากกว่า ออกมาจัดสถานการณ์ในเมียนมาแบบซึ่ง ๆ หน้า”
ส่วน เจสัน ทาวเวอร์ จากสถาบัน Institute of Peace ในสหรัฐฯ เห็นด้วยในเรื่องนี้ และอ้างฐานข้อมูลที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ในการระบุว่า มีคนจีนเกือบ 2,000 คนที่หายตัวไปในเมียนมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และชี้ว่า “แรงหนุนจากจีนต่อกองทัพเมียนมาทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อประชากรของตน”
ภาพจากสำนักข่าวซินหัวแสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเมียนมานำส่งตัวผู้ต้องสงสัยคดีหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตและออนไลน์ 5 คน ให้กับตำรวจจีน ที่สนามบินนานาชาติย่างกุ้ง เมื่อ 26 ส.ค. 2567
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินการแบบเด็ดขาดต่อขบวนการพนันออนไลน์และแก๊งหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต โดยเน้นย้ำความจำเป็นว่า ประเทศทั้งหลาย “ที่เกี่ยวข้อง” ต้องทำตามหน้าที่รับผิดชอบของตน แต่ไม่ได้มีการกล่าวชื่อเมียนมาออกมาเลย
ที่การประชุมคณะผู้แทนอาเซียนเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา รมต.หวังยังได้พูดย้ำเกี่ยวกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากองค์กรอาชญกรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปฏิบัติการอยู่ตามชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งเป็นภัยต่อพลเมืองจีนและประเทศอื่น ๆ
ในส่วนของคดีที่เพิ่งเกิดขึ้น ตำรวจไทยและจีนร่วมกันจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 12 คนที่เชื่อว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวชาวจีนไป โดยยังมีการสืบสวนหารายละเอียดอยู่เพื่อนำจับผู้ต้องสงสัยเพิ่มเติม
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนกล่าวว่า ทางหน่วยงานกำลัง “พยายามทุกวิถีทาง” เพื่อทะลายแหล่งกบดานของแก๊งสแกมเมอร์และ “ช่วยเหลือผู้ที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ออกมา” อยู่
Your browser doesn’t support HTML5
จีนผจญมรสุมแก๊งสแกมเมอร์เมียนมา แม้หนุนรัฐบาลทหารมาตลอด
นโยบาย “ให้รางวัล” ของจีน
เจสัน ทาวเวอร์ จาก Institute of Peace กล่าวว่า จีนนั้นดูเหมือนจะชอบใช้วิธี “การให้รางวัล” มากกว่า “การลงโทษ” กองทัพเมียนมา
เมื่อปีที่แล้ว กระทรวงความมั่นคงสาธารณะจีนมอบรางวัลที่เป็นเกียรติประวัติสูงสุดของประเทศซึ่งก็คือ เหรียญ Golden Great Wall Commemorative Medal ให้กับรัฐมนตรีกิจการภายในของเมียนมา พลโทยา พีร์ สำหรับการให้ความร่วมมือปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ขณะที่ นักวิเคราะห์ชี้ว่า แม้จีนจะให้การสนับสนุนต่าง ๆ ไป กองทัพจีนกลับมุ่งเน้นปฏิบัติการของตนไปยังเรื่องการสู้รบแย่งชิงเขตแดนมากกว่าการปราบปรามขบวนการสแกมเมอร์อยู่ดี
ทาวเวอร์กล่าวด้วยว่า กองทัพเมียนมานั้นไม่มีสรรพกำลังและแรงจูงใจทางการเมืองมากพอที่จะจัดการกับแก๊งอาชญากรรมเหล่านี้ เพราะกองทัพนั้นต้องพึ่ง ซอ ชิต ตู ผู้นำกองกำลังพลเรือนติดอาวุธ ในการดูแลพื้นที่เมืองเมียวดีซึ่งเป็นศูนย์กลางปฏิบัติการของแก๊งต่าง ๆ
ซอ ชิต ตู ซึ่งเป็นผู้นำกองกำลัง BGF นั้นถูกรัฐบาลสหรัฐฯ อังกฤษ และสหภาพยุโรป ดำเนินมาตรการลงโทษฐานมีบทบาทในการปกป้องแก๊งอาชญากรรมและกลุ่มสแกมเมอร์จีน
การเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายสแกมเมอร์
ความพยายามปราบปรามเครือข่ายสแกมเมอร์อย่างหนักของจีนที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนเมียนมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทำให้กลุ่มอาชญากรเหล่านี้ขยับตัวมาตั้งหลักที่เมืองเมียวดี ในรัฐกะเหรี่ยง ของเมียนมา ซึ่งอยู่ห่างไกลจากการดูแลควบคุมของกรุงปักกิ่ง
SEE ALSO: หน่วยงานยูเอ็นเผย แก๊งมิจฉาชีพไซเบอร์ย้ายฐานไปอยู่เมียนมามากขึ้นล่า จ่อ ซอว์ นักวิเคราะห์ด้านจีน-เมียนมา กล่าวว่า จีนประสบความสำเร็จมากกว่าในการจัดการกับกลุ่มสแกมเมอร์ออนไลน์ใกล้ ๆ กับชายแดนของตน แต่ในพื้นที่ที่ห่างไกลออกไปนั้น อิทธพลของจีนก็ลดน้อยถอยไปตามลำดับ
นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวด้วยว่า “จีนนั้นคอยเฝ้าดูกิจกรรมผิดกฎหมายในพื้นที่และรอบ ๆ เมียวดีอย่างใกล้ชิด แต่ก็ต้องพึ่งความร่วมมือจากไทยในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้อยู่ดี”
วีโอเอสอบถามประเด็นแก๊งสแกมเมอร์จากสถานทูตจีนในเมียนมา และได้คำตอบที่ย้ำแค่เรื่องปฏิบัติการร่วมระหว่างประเทศในการจัดการกับกลุ่มอาชญากรนี้เท่านั้น โดยในประกาศที่มีออกมาเมื่อวันอังคารที่แล้ว มีการระบุว่า จีนมีแผนจะดำเนินการในเฟสที่สองของแนวคิดริเริ่ม “ปฏิบัติการรักษากฎหมายร่วมจิงเหยา” (Jingyao Joint Law Enforcement Operation” initiative) ซึ่งเป็นการร่วมมือกับกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทยและเวียดนามในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและแก๊งหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ หลังมีผลงานในเฟสแรกด้วยการจับกุมผู้ต้องหากว่า 70,000 คนจากพื้นประเทศเหล่านี้และช่วยเหยื่อราว 160 คนที่ส่วนใหญ่ถูกจับไปอยู่ทางเหนือของเมียนมา
เสียงไม่พอใจกระหึ่มโซเชียล
กรณีการลักพาตัวชาวจีนมากมายไปทำงานให้แก๊งสแกมเมอร์ในเมียนมาเมื่อไม่นานมานี้ โดยเฉพาะเรื่องของ หวัง ซิง นักแสดงหนุ่มชาวจีน ไปยังเมืองเมียวดี ทำให้ชาวจีนจำนวนมากไม่พอใจอย่างหนัก แม้สถานทูตจีนในเมียนมาและไทยจะเตือนประชาชนของตนให้ระวังถูกหลอกว่ามีงานที่จ่ายเงินดี ๆ เพราะมักจะจบด้วยการถูกจับไปบังคับใช้แรงงานบ่อยครั้ง
Your browser doesn’t support HTML5
เผยสแกมเมอร์ยกระดับ หลังเหตุลักพาตัวดาราจีนไปเมียนมา
เจ้าหน้าที่ไทยรายงานว่า นักแสดงหนุ่มผู้นี้ถูกแก๊งสแกมเมอร์ที่มีฐานปฏิบัติการในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังป้องกันชายแดนรัฐกะหรี่ยง (Karen State Border Guard Force - BGF) ซึ่งเป็นพันธมิตรของกองทัพเมียนมา ลักพาตัวไปทำงานที่คอลเซ็นเตอร์ของตน
นายพลจัตวาซอว์ หม่อง วิน จากกองกำลังดังกล่าว บอกกับสื่อว่า BGF ได้ส่งตัว ซิงซิง ให้ทางการไทยแล้ว พร้อมยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์นี้ และว่า ทางตนเพียงช่วยเหลือในปฏิบัติการช่วยชีวิตเท่านั้น
แต่กรณีนี้ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่พอใจทางสื่อสังคมออนไลน์จีนมากมาย พร้อม ๆ กับการเปิดเผยข้อมูลมากมายจากครอบครัวของผู้ที่เชื่อว่า ญาติพี่น้องของตนหายตัวไปในลักษณะคล้าย ๆ กับดาราหนุ่มดังคนกล่าว
นอกจากนั้น ยังมีจดหมายที่ออกโดยครอบครัวของคนจำนวน 174 คนที่เชื่อว่าถูกลักพาตัวไปยังเมียนมา ถูกนำมาแชร์จนกลายเป็นไวรัลบนแพลตฟอร์ม เว่ยโป๋ (WeiBo) ของจีนเมื่อวันที่ 9 มกราคมด้วย
จีนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ขณะที่ เครือข่ายสแกมเมอร์ที่มีปฏิบัติการหลัก ๆ ในเมียนมาแสดงทิศทางการขยายตัวที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่นี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า กรุงปักกิ่งก็กำลังเผชิญกับความท้าทายในการรักษาสมดุลระหว่างการปกป้องพลเมืองของตนและการรักษาผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของประเทศในเมียนมา
เจสัน ทาวเวอร์ จาก Institute of Peace ให้ความเห็นว่า “ยุทธศาสตร์ของจีนนั้นกำลังลงเหวอยู่” และว่า “ความเป็นจริงก็คือ อย่างที่เห็น [พลเมือง]จีนนั้นยังถูกลักพาตัวข้ามไปอยู่ในอาณาเขตของกองกำลัง BGF ง่ายจริง ๆ”
การสร้างสมดุลให้กับการเดินหน้าปราบปรามเครือข่ายอาชญากรเหล่านี้โดยไม่สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลทหารเมียนมายังคงเป็นความท้าทายข้อหนึ่งอยู่
“ดูเหมือนจีนจะกำลังเสียท่ากับศึกทั้งสองด้าน” ทาวเวอร์กล่าว “นี่เป็นประเด็นที่ยากมาก (เพราะ)ด้านหนึ่ง จีนก็ไม่ต้องการให้รัฐบาลทหารเมียนมาล่มสลาย และก็ตระหนักดีว่า ถ้าเกิดเปลี่ยนใจกลับไปใช้ “การลงโทษ” แทน นั่นก็อาจจะยิ่งทำให้เกิดการล่มสลายของกองทัพเมียนมาเร็วยิ่งขึ้นไปอีก”
- ที่มา: วีโอเอ