ความคืบหน้าการเดินเท้าของ 'พระสุธรรม ฐิตธัมโม' หรือ 'พระสุธรรม นทีทอง' พระสงฆ์ชาวไทยระยะทางกว่า 5,000 กม.ข้ามสหรัฐฯ ใกล้เดินทางถึงจุดหมายปลายทางที่นครนิวยอร์กในอีกไม่กี่วันแล้ว
Your browser doesn’t support HTML5
โปรดติดตาม รายงานพิเศษ พระสงฆ์ไทยเดินเพื่อสันติภาพข้ามอเมริกา
ล่าสุด (27 มิ.ย.) พระสุธรรม อยู่ในระหว่างเดินเท้าผ่านรัฐเพนซิลเวเนีย เข้าเขตรัฐนิว เจอร์ซี ที่เมืองแฮคเกทส์ทาวรน์ (Hackettstown) แล้ว โดยเหลือระยะทางเดินเท้าอีกราว 60 ไมล์ หรือประมาณ 120 กม. จะถึงใจกลางนครนิวยอร์ก โดยมีกำหนดเดินทางถึงศาลาว่าการนครนิวยอร์ก แถบตอนล่างของเกาะแมนฮัตตัน (Lower Manhattan) ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ท่ามกลางไมตรีจิตจากชาวอเมริกันและชาวไทยในอเมริกา ที่ให้ความสนใจติดตามและให้กำลังใจพระสุธรรมเกือบตลอดเส้นทางการเดินเท้าในช่วงที่ผ่านมา
รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มชาวไทยในนครนิวยอร์ก และในอเมริกา เตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ผู้ศรัทธาและสนใจเข้าร่วมเดินเท้าร่วมเส้นทางในช่วงเข้าสู่หลักไมค์สุดท้าย “สุดแผ่นดินอเมริกา”ใน วันที่ 30 มิ.ย. เวลาในเวลาประมาณ 16.00 น.
โดยจะนัดรวมตัวกันที่ ศาลาว่าการนครนิวยอร์ก และจะเดินไปถึงจุดสิ้นสุดริมอ่าวนิวยอร์ก ฝั่ง South Ferry เป็นระยะทางประมาณ 0.8 ไมล์ และจะมีการเตรียมธงชาติไทยไปร่วมต้อนรับการเดินทางข้ามอเมริกาของพระสุธรรม ที่บริเวณจุดสิ้นสุดการเดินอีกด้วย
ขณะที่ในวันที่ 1 ก.ค. พระสุธรรม จะมีกำหนดเดินทางไปยัง เกาะลิเบอร์ตี้ ใจกลางอ่าวนิวยอร์กเพื่อเดินเท้าให้ถึงอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ (Statue of Liberty) ซึ่งเป็นปลายทางสุดท้ายของการเดินทางอันยาวนาน
Your browser doesn’t support HTML5
สนทนาธรรมกับ'พระสุธรรม ฐิตธัมโม' เบื้องหลังแรงผลักดัน“เดินเพื่อสันติภาพ"ข้ามอเมริกา
พระสุธรรม เริ่ม 'เดินธุดงค์เพื่อสันติภาพ' จากชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค ที่ซานตาโมนิกา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มี.ค. พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา โดยใช้เส้นทางถนนหมายเลข 66 หรือ รูต 66 ซึ่งเป็นถนนสายประวัติศาสตร์ ในฐานะถนนหลวงสายแรกของสหรัฐฯ ที่พาดผ่านตะวันออกสู่ตะวันตกเชื่อมต่อระหว่างรัฐเป็นเส้นทางหลัก มุ่งหน้าข้ามประเทศไปยังจุดหมายในฝั่งตะวันออก หรือ ฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติค ของสหรัฐฯอเมริกา
หากพระสุธรรม เดินทางถึงที่หมายได้สำเร็จในวันที่ 30 มิถุนายน จะใช้เวลาในการเดินทางทั้่งสิ้น 121 วัน หรือ 4 เดือน ผ่านรัฐต่างๆของสหรัฐอเมริการวมทั้งสิ้น 14 รัฐ ในระยะทางในการเดินเท้าราว 3,000 กว่าไมล์ หรือกว่า 5,000 กิโลเมตร